ดันเชียงราย-นครพนม เร่งพัฒนาเขตศก.พิเศษ
นอกเหนือจากเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษติดแนวชายแดน ระยะแรกเริ่มจำนวน5 พื้นที่ คือ จังหวัดตาก สระแก้ว ตราด มุกดาหาร และสงขลา ที่รัฐบาลกำลังผลักดันให้เกิดเต็มรูปแบบในปีนี้แล้ว ล่าสุด...ยังมีพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในระยะที่ 2 อีก 2 พื้นที่ ซึ่งมีศักยภาพสูง เหมาะที่จะเริ่มพัฒนาขึ้นมาเทียบเคียงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษในระยะแรก ไม่ว่าจะเป็นที่ นครพนม และเชียงราย เพราะต่างมีความพร้อม และกำลังเป็นที่ต้องตาต้องใจบรรดาเอกชนกระเป๋าหนัก เข้ามาลงทุนในพื้นที่เป็นฐานการผลิตเชื่อมโยงไปยังประเทศในกลุ่มซีแอลเอ็มวี ทั้งกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม
เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ในฐานะผู้ติดตามโครงการได้จัดทำ "แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนที่มีศักยภาพสูงตามนโยบายของรัฐบาล: จังหวัดเชียงราย และนครพนม" ขึ้น หลังเห็นศักยภาพของพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัด และยังอยู่ในแผนการพัฒนาจัดตั้งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล จึงมอบให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาโครงการฯ
จากการสำรวจแสดงให้เห็นถึงความสำคัญ ที่ช่วยสนับสนุนให้กระทรวงอุตสาหกรรมมียุทธศาสตร์ กลยุทธ์ แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม และแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงราย และนครพนม เพื่อแต่งตัวเตรียมความพร้อมวางนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดน ให้ตอบสนองรับกับนโยบายของรัฐบาล ต่อ ยอดไปถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนที่มีศักยภาพ ให้เกิดผลทางปฏิบัติอย่างชัดเจนในช่วงเวลาที่รัฐเหลือเวลาขับเคลื่อนนโยบายเพียง 1 ปี
วาง 4 ยุทธศาสตร์
การเข้ามาศึกษาความพร้อมของพื้นที่ทั้ง 2 แห่ง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจังหวัดเชียงราย และจังหวัดนครพนม เอาไว้ทั้งหมด 4 ยุทธศาสตร์ ให้เป็นกลไกสำคัญผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมภายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และจังหวัดนครพนม สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มาลงทุนในพื้นที่ ส่งผลหนุนนำให้เศรษฐกิจของพื้นที่ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีขึ้น ก่อนยกเป้าหมายให้เป็นเครื่องมือที่สำคัญกับการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในอนาคต
พัฒนาอุตสาหกรรม 4.0
สำหรับการพัฒนา มีเป้าหมายสำคัญในการมุ่งเน้นการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยใน 4 ด้านสำคัญ โดยด้านแรกที่พบว่ามีความสำคัญมากที่สุด นั่นคือ ด้านการส่งเสริมการพัฒนา และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายให้สอดรับกับการพัฒนาอุตสาหกรรมในยุค 4.0 หรืออินดัสทรี 4.0 เพื่อยกระดับภาคการผลิตสู่การใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น
จากนั้นจึงหันมาเริ่มลงมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ จากการพิจารณาก็เห็นความน่าลงทุน และความพิเศษ กับการเป็นพื้นที่เชื่อมต่อไปกลุ่มจังหวัดสำคัญ และเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน เรื่อยไปจนถึงพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาด้านการค้า และการลงทุนภายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานมีการเตรียมความพร้อมจัดทำโครงการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานไว้รองรับเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะทางถนน และระบบราง
สร้างเครือข่าย-ดูสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกันด้านการพัฒนาและสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงการพัฒนาอุตสาหกรรม ยังเป็นอีกด้านที่ต้องเร่งพัฒนาให้เกิดผลชัด ๆ โดยตามแผนเน้นให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเครือข่าย (คลัสเตอร์) ภายในห่วงโซ่อุปทาน หรือซัพพลายเชน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เชื่อมโยงอุตสาหกรรมหลัก และอุตสาหกรรมสนับสนุนทั้งภายในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง จนถึงประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งไทยเองมีศักยภาพที่จะทำได้ ส่วนด้านสุดท้าย ด้านการสร้างความเข้มแข็ง และสมดุลของภาคอุตสาหกรรมกับวัฒนธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม เน้นให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนกับการรักษาสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตามในแง่ของการศึกษาความพร้อมของพื้นที่นั้น จากการตรวจสอบในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ถือเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นประตูการค้าใหญ่ทางทิศเหนือ รองรับการค้าจากจีนตอนใต้ ซึ่งแต่ละปีมีมูลค่าการค้าชายแดนที่มากถึง 36,000 ล้านบาท ที่ผ่านมาการคัดเลือกพื้นที่ได้กำหนดอาณาเขตรวมทั้งสิ้น 21 ตำบล ใน 3 อำเภอ ที่เหมาะสมจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษรองรับการลงทุน มีพื้นที่รวม 572,629 ไร่ มีกิจกรรมหลัก ๆ ที่เป็นเป้าหมาย คือ การค้า การท่องเที่ยว และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุน ระบบโลจิสติกส์
ศูนย์กลางขนส่งสินค้า
เช่นเดียวกับจังหวัดนครพนมถือเป็นจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าแห่งอินโดจีน เพราะเป็นที่ตั้งของสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 3 เชื่อมเมืองนครพนมกับแขวงคำม่วนของ สปป.ลาว มีมูลค่าการค้าเกิดขึ้นจำนวนมาก และรัฐบาลก็กำหนดพื้นที่เป้าหมายที่มีศักยภาพไว้ถึง 2 อำเภอ 13 ตำบล ครอบคลุมพื้นที่ 465,493 ไร่ โดยอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ทั้งอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร เพราะจังหวัดนี้มีพื้นที่ทำการเกษตร ถึง 53.48% ของพื้นที่ทั้งหมด มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ข้าว ยางพารา สับปะรด มันสำปะหลัง ยาสูบ รวมทั้งด้านประมง เพราะมีแหล่งน้ำสำคัญหลายแห่ง โดยเฉพาะแม่น้าโขงที่เป็นแม่น้าสายหลัก
ดังนั้นหากภาครัฐพร้อมที่จะผลักดันทั้ง2 จังหวัดนี้ ให้ขึ้นชั้นมาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่ต้องเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เห็นทีจะต้องหันมาเอาจริงเอาจังกับการปั้นพื้นที่ขุมทองแห่งนี้ เพื่อเข้ามาประคองเศรษฐกิจชาติได้อีกแรง...ในยามที่การส่งออกยังทรุดไม่เป็นท่าเหมือนที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
ที่มา: เดลินิวส์
อ่านข่าวเกี่ยวกับอสังหาฯ ทั้งหมดเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.plus.co.th/ข่าว-และ-บทความ