กทม.งัดข้อรัฐสภาลุยสร้างสะพานเกียกกาย
แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหาคร (กทม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมนำโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในความรับผิดชอบของ กทม. จำนวน 4 แห่ง เงินลงทุน 24,237 ล้านบาท เสนอผู้บริหารและรัฐบาลให้เดินหน้าก่อสร้างต่อไป เพื่อแก้ปัญหาการจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมที่สุดขณะนี้คือ สะพานเกียกกายพร้อมถนนต่อเชื่อม เงินลงทุน 11,000 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 4,500 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 6,500 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างขออนุมัติ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน และของบประมาณก่อสร้างซึ่งจะให้รัฐบาลสนับสนุนค่าก่อสร้างทั้งหมด
รูปแบบเป็นสะพานยกระดับและถนนต่อเชื่อมยกระดับขนาด4-6ช่องจราจรระยะทาง 4.5 กม. จุดเริ่มต้นอยู่ทางรถไฟสายใต้ ข้าม ถ.จรัญสนิทวงศ์ แม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านวัดแก้วฟ้าจุฬามณี รัฐสภาแห่งใหม่ ถ.สามเสน ถ.ทหาร ถ.เตชะวณิช ถ.ประดิพัทธ์ วกเข้า ถ.เทอดดำริห์ ตวัดออกข้ามทางด่วนขั้นที่ 2 บริเวณ ถ.พระรามที่ 6 เข้า ถ.กำแพงเพชร ผ่านตลาด อ.ต.ก. ตลาดนัดจตุจักร มาบรรจบกับ ถ.พหลโยธิน ด้านกรมการขนส่งทางบก มียอดเวนคืน 874 ราย
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ล่าสุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ได้สั่งการให้ กทม. กระทรวงมหาดไทย กรมโยธาธิการและผังเมือง และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณาถึงรูปแบบการก่อสร้างโครงการ หลังจากรัฐสภามีข้อเสนอให้ปรับแบบก่อสร้างสะพานใหม่ให้เป็นอุโมงค์ทางลอดแทน เนื่องจากจะบดบังทัศนียภาพของอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้าง จะมีประชุมร่วมกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการภายในเดือน ก.ย. หากได้ข้อยุติจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป "กทม. ยังยืนยันว่าจะไม่ปรับแบบและใช้รูปแบบสะพานเหมือนเดิม เพราะหากปรับเป็นอุโมงค์จะทำให้ต้นทุนก่อสร้างเพิ่มขึ้น 3-4 เท่าตัว และไม่สามารถทำให้โครงข่ายการเดินทางครบวงจร และโครงการนี้ศึกษามาจนแล้วเสร็จและผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการจัดจราจรทางบกกลาง หรือ คจร.แล้วตั้งแต่ปี′47 ตอนนี้รอประมูลก่อสร้างเท่านั้น เตรียมจะของบฯกลางปี′60 จากรัฐบาลมาเวนคืนและก่อสร้าง ยังไงก็ต้องก่อสร้างเพราะจะแก้รถติด 2 ฝั่งแม่น้ำได้"
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนอีก 3 สะพาน ที่พร้อมดำเนินการมีสะพานราชวงศ์-ท่าดินแดง ซึ่ง กทม.ศึกษาเสร็จแล้ว ใช้เงินลงทุน 837 ล้านบาท จะไม่มีการเวนคืนที่ดิน จึงทำให้การก่อสร้างเดินหน้าได้เร็ว ออกแบบสร้างเป็นสะพาน 2 ช่องจราจร พร้อมทางเดินยาว 480 เมตร จะสร้างอยู่บนแนว ถ.ราชวงศ์ และ ถ.ท่าดินแดง มีจุดเริ่มต้นอยู่ ถ.ทรงวาด ถ.ราชวงศ์-ท่าเรือราชวงศ์ ท่าเรือดินแดง-ถ.ท่าดินแดง สิ้นสุดท่าดินแดง 17 ขณะนี้รองบประมาณปี 2560 จัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)
ส่วน "สะพานจันทน์-เจริญนคร" กำลังปรับแบบก่อสร้างใหม่ เนื่องจากยังมีคนคัดค้าน มีระยะทาง 1.3 กม. ขนาด 4 ช่องจราจร ลงทุน 6,600 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 1,800 ล้านบาท และค่าเวนคืน 4,800 ล้านบาท เช่นเดียวกับ "สะพานลาดหญ้า-มหาพฤฒาราม" เงินลงทุน 5,800 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 2,300 ล้านบาท และค่าเวนคืนที่ดิน 3,500 ล้านบาท ปัญหาของโครงการนี้ คือ แนวเส้นทางผ่านคลองผดุงกรุงเกษมต้องจัดทำ EIA อีกทั้งแนวเส้นทางซ้อนทับกับรถไฟฟ้าสายสีแดง (ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย) และประชาชนคัดค้านโครงการ ส่วน "สะพานพระราม 2" ที่คณะกรรมการจัดระบบการจราจร (คจร.) อนุมัติให้อยู่ในความรับผิดชอบของ กทม.นั้น ยังไม่ได้รับงบฯสำรวจออกแบบ เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินก่อสร้างประมาณ 3,000 ล้านบาท
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์อ่านข่าวเกี่ยวกับอสังหาฯ ทั้งหมดเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.plus.co.th/ข่าว-และ-บทความ