เกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยใหม่ วางดาวน์เท่าไหร่ ใครเกี่ยวข้องบ้าง

15 พ.ย. 2018 ภาษีและการเงิน


เกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยใหม่ วางดาวน์เท่าไหร่ ใครเกี่ยวข้องบ้าง

จากการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยใหม่ ที่ประกาศไปเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมาและบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 เป็นต้นไป มีข้อมูลสำคัญที่น่าสนใจมากมายเลยครับ ทางพลัส พร็อพเพอร์ตี้ ได้มีการสรุปใจความสำคัญเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการกู้ซื้อบ้านให้เข้าใจที่ง่ายขึ้น ตามไปดูกันเลยครับ

การกำหนดเงินดาวน์ขั้นต่ำเป็นอย่างไร?

สำหรับการผ่อนที่อยู่อาศัยพร้อมกัน 2 หลังขึ้นไป และที่อยู่อาศัยที่มีราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไปนั้น ที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ที่ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาทและผ่อนชำระหลังแรกตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป จะต้องวางเงินดาวน์ 10% ขณะที่ถ้าผ่อนชำระหลังแรกยังไม่ถึง 3 ปีหรือกู้ซื้อที่อยู่อาศัยราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องวางเงินดาวน์ 20% สำหรับที่อยู่อาศัยหลังที่ 3 ขึ้นไปจะต้องวางเงินดาวน์ 30% ในทุกระดับราคา

เครดิตภาพจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย

สัญญากู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรก

·         ยอดเงินดาวน์ 0-10% (ไม่เปลี่ยนแปลงครับ)

สัญญากู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่สอง แบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้

·         หากบ้านหลังแรกผ่อนมานานเกิน 3 ปี และบ้านหลังที่สองราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท ยอดเงินดาวน์อยู่ที่ 10 %

·         หากบ้านหลังแรก ผ่อนไม่ถึง 3 ปี หรือบ้านหลังที่สองมีราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ยอดเงินดาวน์จะอยู่ที่ 20 %

สัญญากู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่สาม

·         หากยังผ่อนหลังที่ 1 และ 2 ยังไม่หมด จะต้องวางเงินดาวน์ 30% ในทุกระดับราคา

สำหรับการนับรวมสินเชื่อ Top-up ในวงเงินที่ขอกู้ จะนับรวมสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (สินเชื่อ Top-up) ทุกประเภทที่อ้างอิงหลักประกันเดียวกันในวงเงินที่ขอกู้โดยให้ยกเว้น (1) สินเชื่อที่ใช้ชำระเบี้ยประกันชีวิตผู้กู้และประกันวินาศภัย ซึ่งช่วยป้องกันความเสี่ยงของทั้งผู้กู้และสถาบันการเงิน และ(2) สินเชื่อที่ให้กับธุรกิจ SMEs เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการรายย่อย

เกณฑ์ฉบับใหม่นี้ บังคับใช้กับใครบ้าง ?

ผู้ที่กู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ในขณะที่ยังผ่อนหลังแรกไม่หมด และผู้ที่กู้ซื้อที่อยู่อาศัยราคาแพงเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป   แต่เกณฑ์ดังกล่าวจะไม่กระทบประชาชนที่กู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรกที่ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท และจะไม่บังคับใช้กับการกู้เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยบนที่ดินของตนเอง รวมทั้ง จะไม่กระทบการรีไฟแนนซ์สำหรับผู้กู้ที่มีภาระผ่อนเพียงหนึ่งหลัง ทั้งนี้ การรีไฟแนนซ์ที่อยู่อาศัยในทุกกรณีให้ใช้ราคาประเมินใหม่เพื่อสะท้อนมูลค่าปัจจุบัน

เครดิตภาพจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย

เกณฑ์ฉบับใหม่นี้ บังคับใช้ตอนไหน?

จะเริ่มใช้บังคับกับสัญญากู้ซื้อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 เป็นต้นไป โดยจะยกเว้นกรณีที่มีสัญญาจะซื้อจะขายก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2561 เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ที่วางแผนซื้อที่อยู่อาศัยหรือผ่อนดาวน์อยู่ก่อนแล้ว

ทำไมจึงต้องมีการปรับปรุงเกณฑ์?

·         เพื่อดูแลประชาชนที่ต้องการกู้ซื้อที่อยู่อาศัย ให้สามารถซื้อได้ในราคาที่เหมาะสม

·         ยกระดับมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน

·         เป็นมาตรการเชิงป้องกันเพื่อดูแลความเสี่ยงเชิงระบบ

เครดิตภาพจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำหรับใครที่มีการวางแผนเพื่อกู้ซื้อบ้าน อย่าลืมทำความเข้าใจเกณฑ์ฉบับใหม่กันให้ถี่ถ้วนนะครับ เพื่อผลประโยชน์ต่อตนเองในการจัดหาเงินดาวน์ต่อไปครับ

รายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมสามารถศึกษาต่อได้ที่เว็บไซต์ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ครับ

พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ตัวแทนด้านอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจร ให้คำปรึกษาฝากขายปล่อยเช่า และการซื้อขายคอนโดมือสอง ครบทุกขั้นตอน บริหารโครงการที่พักอาศัย/โครงการเพื่อการพาณิชย์ บริหารงานขายและการตลาดโครงการ ด้วยทีมงานระดับคุณภาพ กับประสบการณ์ที่มากกว่า 20 ปี เติมเต็มทุกความต้องการอย่างแท้จริง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร 02 688 7555 หรือ คลิกที่นี่ เพื่อศึกษาข้อมูลการบริการของเราเพิ่มเติมครับ

เรื่องเด่นน่าสนใจ

เรื่องราวยอดนิยม